บทความสาระ
(Article)
หลวงปู่ทวดเนื้อว่าน

หลวงปู่ทวดเนื้อว่าน ปี2497 พิมพ์พระรอดหน้าใหญ่

วิธีพิจารณาเนื้อหาประกอบด้วยดังนี้...
องค์ประกอบที่ ๑ มวลสารของพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ๒๔๙๗ ไม่ว่าจะแก่ดิน หรือแก่ว่าน หรือมีเฉดสีใดก็ตาม ล้วนมีมวลสารที่เห็นได้ชัดเจนทุกองค์ว่าจะต้องประกอบไปด้วย เม็ดดำ เม็ดแดง (สีอิฐเผา) และ เม็ดขาว

องค์ประกอบที่ ๒ เม็ดแร่ ที่โรยอยู่ด้านหลังพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ปี ๒๔๙๗ หรือที่มีประปรายอยู่ด้านหน้าองค์พระนั้น เป็นแร่ที่ท่านคหบดี อนันต์ คณานุรักษ์ นำมาจากเหมืองของท่าน เนื่องจากในขณะนั้นท่านประกอบธุรกิจด้านเหมืองแร่ ท่านเรียกแร่นี้ว่า “กิมเซียว” ซึ่งเป็นคำภาษาจีน แปลว่า ทองน้อย หรือ ทองอ่อน เมื่อมาพิจารณาสีของเม็ดแร่ ปรากฏว่ามีสีทองอ่อนๆ ดังนั้นน่าจะสันนิษฐานว่า ท่านคหบดีอนันต์ คณานุรักษ์ คงจะตั้งชื่อแร่ชนิดนี้เป็นภาษาจีน ตามสีสันของแร่ที่ท่านเห็น

เม็ดแร่ที่มีอยู่ในองค์พระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ปี ๒๔๙๗ มีสีเหลืองอ่อนๆ แบบสีของทอง หากส่องล้อแสงอาทิตย์ เม็ดแร่ดังกล่าวจะสะท้อนแสง มองเห็นเป็นแบบสีของเหล็กโครเมียม หรือนิเกิล

องค์ประกอบที่ ๓ ที่จะทำให้พิจารณา พระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ๒๔๙๗ ได้ง่ายขึ้น ต้องย้อนกลับไปดูกรรมวิธีขึ้นรูปเป็นองค์พระ นั่นคือ เขาเอาว่านสด ๑๐๘ อย่าง ผสมกับดินกากยายักษ์ มาตำมาบดกันแล้วผสมรวมกัน

ส่วนผสมของมวลสารทั้งหมดในขณะนั้นยังเปียก และมี น้ำว่าน อยู่ (ว่านเป็น) แล้วนำไปกดลงในเบ้าพิมพ์ออกมาเป็นองค์พระ ต้องกดแรงพอสมควร เพื่อให้ขึ้นเป็นรูปองค์พระชัดเจนทุกสัดส่วน เมื่อกดแรง ยางน้ำว่าน ก็จะไหลไปอยู่ที่ผิวรอบนอก (เหมือนกับบิดผ้าเปียกน้ำ น้ำก็จะถูกบีบออกมาภายนอก) ทำให้องค์พระมีน้ำว่านมาเคลือบที่ผิวนอก มีลักษณะคล้ายกล้วยฉาบน้ำตาลบางๆ

ในกรณีนี้ จะสังเกตได้ว่า พระเนื้อว่านเก๊จะไม่มีลักษณะเช่นนี้ เนื่องจากทำมาจากว่านตาย (ว่านที่ซื้อมาจากร้านขายยาจีน-หรือร้านขายยาโบราณ ที่ตากแห้งแล้วจึงไม่มีน้ำยางว่าน)

องค์ประกอบที่ ๔ ต้องพิจารณาถึงความแห้งเก่า อายุ ขององค์พระ ซึ่งต้องนำมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาอีกชั้นหนึ่งด้วย