บทความสาระ
(Article)
พระพุทธรูปสมัยอู่ทอง

พระพุทธรูปสมัยอู่ทอง หน้าแก่ หน้าตัก15นิ้ว

แบบอู่ทอง (พุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๙)

แบบอู่ทองเป็นชื่อเรียกศิลปะที่เกิดขึ้น ในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย แถบเมืองลพบุรี และสุพรรณบุรี ในช่วงก่อนการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา ที่เรียกว่า “อู่ทอง” นั้น เพราะเข้าใจว่า เป็นเมืองของพระเจ้าอู่ทอง ก่อนที่จะทรงย้ายราชธานีมาสร้างเมืองใหม่ที่กรุงศรีอยุธยา แต่จากหลักฐานทางโบราณคดี ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เมืองอู่ทองเป็นเมืองสมัยทวารวดีที่ร้างไปแล้วตั้งแต่ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยาประมาณ ๓๐๐ ปี อย่างไรก็ตาม ได้พบ หลักฐานทางศิลปกรรมบริเวณภาคกลางของประเทศไทยระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๙ ที่มีอิทธิพลของศิลปะทวารวดีและศิลปะขอมปะปนอยู่ นักวิชาการจึงอนุโลมเรียกศิลปะนี้ว่า “แบบอู่ทอง” โดยเป็นที่เข้าใจกันทั่วไป แล้วว่า หมายถึงศิลปะในภาคกลางที่เกิดขึ้น ก่อนสมัยอยุธยา

พระพุทธรูปแบบอู่ทองแบ่งเป็น ๓ รุ่น คือ

อู่ทองรุ่นแรก มีอิทธิพลของศิลปะทวารวดี และขอมปะปนกัน ได้แก่ กลุ่มพระพุทธรูปที่มีพระพักตร์เป็นแบบพื้นเมืองคือ พระพักตร์ สี่เหลี่ยม ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นตุ่มเล็กๆ ชายสังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ปลายตัดตรง

อู่ทองรุ่นที่ ๒ แสดงอิทธิพลของศิลปะขอมชัดเจนที่สุด ลักษณะที่สำคัญได้แก่ พระพักตร์สี่เหลี่ยม สีพระพักตร์ถมึงทึง ขมวด พระเกศาเล็ก มีไรพระศก (แนวที่ปรากฏอยู่ระหว่างพระนลาฏและขมวดพระเกศา) พระรัศมีเป็นเปลว ชายสังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ปลาย ตัดตรง นิยมทำพระพุทธรูปที่มีพระชงฆ์เป็นสันที่เรียกว่า “พระแข้งคม” ประทับนั่งเหนือฐานที่เว้าเป็นร่อง

อู่ทองรุ่นที่ ๓ มีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย ลักษณะโดยรวมคล้ายกับรุ่นที่ ๒ คือ มีไรพระศก พระชงฆ์เป็นสัน ประทับนั่งเหนือฐานที่เว้าเป็นร่อง แต่มีลักษณะที่แตกต่าง คือ พระพักตร์รูปไข่ อันเป็นอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย และพระรัศมีเป็นเปลวสูงอย่างมาก